หลายๆคนน่าจะเคยได้ยิน Hema Supermarket มาบ้างแล้วนะครับ เพราะว่าสื่อไทยก็ทำข่าวกันหลายเจ้าแล้ว ไม่ถึงกับเป็นเรื่องใหม่เอี่ยม ครั้งนี้ผมจะมาแชร์สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการได้เข้าไปศึกษา Hema ด้วยตัวเอง

1) ยกระดับความสดไปอีกระดับ สดกว่านี้ก็จับเองในทะเลแล้ว

โซนที่เป็นไฮไลท์เลยสำหรับผมคือโซนอาหารทะเลสดได้ สดแบบที่กำลังว่ายน้ำกันอยู่เลยทีเดียว

ลูกค้าเลือกช้อนเอาเลยครับว่าอยากกินปูตัวไหน กุ้ง หอย ปู ปลา มีให้เลือกสดๆแบบว่ายน้ำอยู่เลย ผมยังไม่เห็นสดระดับนี้ในไทยเลย แม้แต่ในตลาดสด ก็ยังไม่สดขนาดว่ายน้ำแบบนี้ น่าสนใจว่า Hema บริหารงานดูแลของสดว่ายน้ำแบบนี้ยังไงให้มีประสิทธิภาพ และทำไมในไทยยังไม่มีคนทำแบบนี้ได้ หรืออาจจะเพราะคนไทยไม่ได้ต้องการสดขนาดนี้ก็เป็นได้

โดยรวมโซนอาหารสด ทำให้ประสบการณ์การช้อปที่ตื่นเต้นดี เดินแล้วหิว อยากเป็นเลือกทาน อ้อ แล้วเค้ามีโซนที่ปรุงสดๆให้เลือกทานได้เลยด้วย

2) รวมพลัง หน้าร้าน + ศูนย์กระจายสินค้า

จุดจุดขายของ Hema ที่สำคัญเลย คือกดสั่งออนไลน์แล้วรอรับได้ภายใน 30 นาที สำหรับคนที่อยู่ในรัศมีของสาขา 3 กิโลเมตร พาเข้ามาในร้าน มองบน จะเห็นสายพานลำเลียงสินค้ากันอย่างสนุกสนาน สร้างความครึกครื้นให้ร้านค้าได้อีกด้วย คนรับออเดอร์วิ่งกันวุ่นเลย

3) สร้างประสบการณ์ช้อปแบบไร้เงินสด

ลูกค้าจ่ายเงินผ่านแอพ Hema ที่ต่อผ่าน Alipay อันนี้เป็นโดยส่วนใหญ่จะจ่ายกันแบบนี้เลย แทบทุกเสามีการโปรโมทให้โหลดแอพ Hema เพื่อจ่ายเงิน รวมทั้งเอาไว้สั่งออนไลน์ได้ด้วยมีแต่ไท่กั๋ว (คนไทย) แบบผมนี่แหละ ที่เค้าไล่ให้ไปต่ออีกแคชเชียร์เพื่อจ่ายเงินสด 😅

นอกจาก Hema จะบริหารการรับชำระเงินได้มีประสิทธิภาพด้วยแอพแล้ว สิ่งสำคัญที่ Hema จะได้ต่อเนื่องคือ ข้อมูล Alibaba จะรู้เลยว่าลูกค้าคนไหนช้อปอะไร ช้อปเมื่อไหร่ และจะชวนให้กลับไปซื้อซ้ำอีกทีเมื่อไหร่ และแนะนำอะไรดี เพราะฉะนั้น หน้าร้านออฟไลน์ในมุม Alibaba ไม่ใช่เป็นเพียงจุดขายสินค้า แต่เป็นที่ที่เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างแทบไร้รอยต่อ

4) เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์ด้วยข้อมูล

ป้ายราคาสินค้าในร้านจะใช้แบบ Electronic Tag ซึ่งจะมีทั้ง Barcode และ QR Code ลูกค้าสามารถใช้แอพ Hema เพื่อสแกนได้ ถ้าสแกน Barcode จะนำคุณไปหน้าสินค้า เพื่อดูข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม ถ้าสแกน QR Code จะแสดงแหล่งที่มาของสินค้า ผมทดลองสแกนทุเรียนดู ก็พบว่าทุเรียนนี้มาจากประเทศไทยเรานี่เอง

5) ลดแคชเชียร์ เน้นให้จ่ายเงินเอง แบบ Self Checkout

แคชเชียร์จะมีปัายโตๆเลยว่า Self Service และลูกค้าชอบใช้ด้วย เพราะทำเองสะดวกดี สแกนสินค้าเสร็จก็แตะจ่ายเงินผ่านแอพ Hema แทนที่จะต้องมีพนักงานเป็นแคชเชียร์เยอะๆเพื่อรองรับลูกค้า ก็ไม่ต้อง แต่กลับพบพนักงานเดินสายเลือกสินค้าใส่ถุงฮิปโป! นั่นคือพนักงานที่คอยเดินเลือกสินค้าให้ลูกค้าออนไลน์นั่นเอง

ผมพบว่าวิธีนี้ เค้าใช้ทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ดีมาก

ขอสรุป 5 ข้อที่ผมเรียนรู้จาก Hema ไว้ที่เท่านี้ครับ

คุณคิดยังไงกับรูปแบบ Supermarket ในยุค New Retail แบบนี้บ้างครับ?

ลองแชร์ความเห็นกันหน่อย